ข่าวแวดวงปศุสัตว์

วันที่ 19 พ.ค.65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และผลักดัน “ไข่ครอบสงขลา” สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
กรมปศุสัตว์ร่วมกับจังหวัดสงขลาจัดนิทรรศการพร้อมสาธิตการทำอาหารจากไข่ครอบสงขลา ได้แก่ ยำไข่ครอบ สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าไข่ครอบ และทาร์ตไข่ครอบ เพื่อผลักดันไข่ครอบเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไข่ครอบสงขลาให้แก่ประชาชนผู้ร่วมชมงานสัตวแพทย์พระราชทาน เพื่อเป็นข้อมูลในการบริโภคและเป็นแนวทางให้กับผู้จำหน่ายในการเพิ่มมูลค่าไข่ครอบเป็นเมนูอาหารที่หลากหลาย เพิ่มโอกาสด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่ายตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด ผู้แปรรูปไข่ครอบ และผู้ประกอบการร้านอาหารให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลาให้เติบโตอย่างยั่งยืน
 
“ไข่ครอบสงขลา” เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวประมงในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยนำไข่แดงจากไข่เป็ด 2 ใบ ใส่ลงในเปลือกไข่ที่ตัดแต่งขอบ แล้วนึ่งจนมีสีแดงอมส้ม ผิวมันวาว ข้างนอกสุก ข้างในเป็นยางมะตูม มีรสชาติเค็มเล็กน้อย เป็นอาหารอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดสงขลา ไข่แดงมีขนาดใหญ่ สีแดงอมส้ม วางประกบกันสองลูก ลักษณะเหมือนรูปหัวใจ เนื้อสัมผัสมีความเหนียวหนึบหนับ รสชาติ มีความมันและเค็มเล็กน้อย กลมกล่อม ไม่มีกลิ่นคาว ผลิตในในพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด ของจังหวัดสงขลา มีวิธีการทำโดยนำไข่เป็ดแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว ตัดแต่งขอบเปลือกไข่ให้สวยงาม แล้วนำไข่แดง 2 ฟอง ใส่ลงไปในเปลือกไข่ โรยน้ำเกลือ หมักทิ้งไว้ 5 - 6 ชั่วโมง แล้วนึ่งให้ผิวไข่แดงสุก ด้านในเป็นยางมะตูม รับประทานคู่กับอาหารพื้นถิ่น เช่น ข้าวยำ ขนมจีน แกงเหลือง เป็นต้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและที่มาของสินค้า ในปัจจุบันสินค้า GI ของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 156 สินค้า โดยมีสินค้าปศุสัตว์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมูย่างเมืองตรัง จังหวัดตรัง เนื้อโคขุน โพนยางคำ จังหวัดสกลนคร และผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้จังหวัดสงขลามีสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้า GI แล้ว จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ส้มโอหอมควนลัง และส้มจุกจะนะ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันสินค้าปศุสัตว์ “ไข่ครอบสงขลา” ให้เป็นสินค้า GI เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชน ที่ขึ้นทะเบียน และที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้ผู้ผลิต เนื่องจากมีลักษณะพิเศษที่เป็นอัตลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ช่วยกระจายรายได้สู่ชนบท และส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชนในท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพของสินค้า และรักษาภูมิปัญญาของท้องถิ่นด้วย
 
ข้อมูล : สยามรัฐ
 
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอและป่วยง่าย
 
วันที่ 18 พ.ค.65 ​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ด้วยขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกชื้นโดยพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง ทำให้สัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคคอบวม นอกจากนี้สัตว์ยังมีโอกาสติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนได้ เช่น โรคไข้สามวัน
 
 
​อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคไข้สามวัน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ โดยสัตว์จะติดเชื้อไวรัสผ่านแมลงดูดเลือด เช่น ยุง แมลงวัน เห็บ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-4 วัน อาการของโรคจะพบได้แตกต่างกันไปในแต่ละตัว โดยอาการแรกที่พบสัตว์จะมีไข้สูง ขึ้นๆลงๆ ซึม ไม่อยากเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามอาการของสัตว์จะเริ่มชัดเจนขึ้นโดยจะพบเห็นว่าสัตว์เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อสั่น ขาแข็ง ขาเจ็บ เดินลำบาก มีน้ำมูก น้ำลายไหล สัตว์บางรายอาจะพบการบวมน้ำบริเวณคอหรือไหล่ หายใจลำบาก ปอดบวม ลุกลำบาก หรือนอนไม่ยอมลุก พบอาการท้องอืดได้กรณีที่สัตว์นอนนานๆ อย่างไรก็ตามสัตว์ส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น 1-2 วันหลังเริ่มแสดงอาการ และจะฟื้นตัวสมบูรณ์อีกประมาณ 1-2 วัน ซึ่งโคนมอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะกลับมาให้น้ำนมปกติ โรคนี้มักพบอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น เส้นประสาทขาหลัง เป็นอัมพาต เต้านมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
 
โดยเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ตาย แต่สาเหตุการตาย เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคปอด ซึ่งวิธีการรักษาเป็นแบบรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาโดยตรง ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนร่วมกับยาบำรุง สัตว์ที่ขาเจ็บและลุกไม่ขึ้น จะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยควรนอนในที่ที่มีสิ่งปูรองที่นุ่มและมีการช่วยพลิกตัวหรือพยุงตัวสัตว์ในแต่ละวัน ทั้งนี้การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี ติดมุ้ง หรือหลอดไฟเพื่อป้องกันแมลงพาหะ มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดโรงเรือน หรือคอกสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์คอยสังเกตอาการของสัตว์ เป็นประจำ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที หรือแจ้งได้ที่ call center โทร. 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0
 
ข้อมูล : สยามรัฐ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์คุมสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในวงจำกัด สำรวจจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและจำนวนสุกร เร่งช่วยเหลือเกษตรกรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาราคาหมูในระยะยาว นั้น

กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์โรค ASF ได้ในวงพื้นที่จำกัด

จากการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ในประเทศไทย พบว่า

  • มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 109,942 ราย
  • มีสุกรทั้งหมด 10,296,405 ตัว

สุกรแม่พันธุ์ คงเหลือในระบบการผลิตจำนวน 1,055,499 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ

  1. ราชบุรี
  2. ลพบุรี
  3. ชัยนาท
  4. บุรีรัมย์
  5. ปราจีนบุรี ตามลำดับ

สุกรขุน จำนวน 9,005,141 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ

  1. ราชบุรี
  2. กาญจนบุรี
  3. สุพรรณบุรี
  4. ลพบุรี
  5. พัทลุง ตามลำดับ

ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจำนวนแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร สำหรับจำนวนสุกรขุนลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อนำมาคิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการตลาดเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว 

สำหรับประเด็นแนวทาง ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.65) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีข้อสรุปเพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิมกำหนดไว้ใน 3 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และจะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ส่วนการนำเข้าช่องทางอื่นๆ ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศ โดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้น มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อความเหมาะสม

​อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีระบบปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคและลดผลกระทบความเสียหาย และได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือทำโครงการ Lanna Sand Box เป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นำร่องในระบบบริหารจัดการการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ASF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกรและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรสามารถนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ได้อย่างยั่งยืน และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กอีกด้วย ทั้งนี้หากต้องการข่าวสารเพิ่มเติม หรือ พบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

 

นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคแซลโมเนลโลซิส (Salmonellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลาที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ โดยเชื้ออาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร และลำไส้ของสัตว์ต่างๆ เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คน และแมลง ซึ่งเชื้อมีการกระจายและอาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของโรคอาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบในคน

ทั้งนี้ มาจากการบริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงไม่สุก ไข่ดิบ ผลิตภัณฑ์ที่มีไข่ดิบ นมดิบ หรือนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ไอศกรีม เนยแข็ง และผักบางชนิด สามารถนำเชื้อก่อโรคจากสัตว์มาสู่คน หรือเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนได้ และการใช้น้ำที่สกปรกทางการเกษตร หรือใช้ล้างอาหารสด ทำให้เกิดการปนเปื้อนข้ามได้เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนและคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีกตลอดกระบวนการผลิต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีก มีทั้งนก ไก่ เป็ด ห่านที่เลี้ยงเพื่อการค้า ครอบคลุมทั้งสัตว์ปีกพันธุ์ สัตว์ปีกไข่ สัตว์ปีกเนื้อ และไข่ฟัก โดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างจากเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่ นอกจากนี้ จะสุ่มเก็บตัวอย่างที่ฟาร์มสัตว์ปีก และฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ เพื่อส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแซลโมเนลลาที่ห้องปฏิบัติการ และทำการรวบรวม และสรุปผลการตรวจวิเคราะห์ทุกเดือน

สำหรับสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีก มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis, Salmonella Typhimurium, Salmonella Hadar, Salmonella Infantis และ Salmonella Virchow ส่วนสัตว์ปีกไข่และสัตว์ปีกเนื้อ มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis และ Salmonella Typhimurium

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ถ้ามีการตรวจพบเชื้อ ให้ทำการสอบสวนหาสาเหตุ เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ยืนยันการพบเชื้อ และหากยืนยันว่าพบเชื้อให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และทำการเฝ้าระวังเชื้อต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ โดยจะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ปีก น้ำล้าง ซาก น้ำ และน้ำแข็งที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ ส่วนโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ จะมีการเก็บตัวอย่างอาหารปรุงสุก เพื่อตรวจวิเคราะห์เชื้อแซลโมเนลลา

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันการติดเชื้อนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์มีสัญลักษณ์ตรา “ปศุสัตว์ OK”

นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เนื่องจากเชื้อนี้ถูกทำลายได้โดยความร้อน แนะนำให้รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร การแยกอาหารดิบออกจากอาหารปรุงสุก และทำการเก็บรักษาในตู้เย็นอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวได้

ส่วนผู้ประกอบอาหาร หรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหาร ควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยในกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด

 

ข้อมูล : อินโฟเควสท์

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า “ ในการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในด้านวิชาการเพื่อให้บุคลากรขององค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยกรมปศุสัตว์จะให้การสนับสนุนบุคลากรด้านวิชาการ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปศุสัตว์ในทุกมิติ ให้กับบุคลากรขององค์การคลังสินค้า”
 
ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาด้านการปศุสัตว์และการตลาดสินค้าปศุสัตว์ของประเทศได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 องค์การคลังสินค้าได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.สุรินทร์) เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนายกระดับตลาดกลางโคกระบือในจังหวัดสุรินทร์ให้ได้มาตรฐาน
 
พร้อมกับได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได (อบต.สลักได) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในความร่วมมือเพื่อส่งเสริมพัฒนายกระดับและขยายโรงชำแหละโคกระบือและห้องรักษาอุณหภูมิให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อรองรับการส่งออก และความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาในการจัดหาอาหารเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือด้วย
 
“การถ่ายทอดความรู้นั้นรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการควบคุมคุณภาพการเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) การแปรรูปสินค้าด้านการปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices : หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตสินค้า) การบริหารการจัดเก็บวัตถุดิบ การเก็บรักษาวัตถุดิบ ระบบการขนส่ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปด้านปศุสัตว์ เป็นต้น
 
รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ การบริหารจัดการ การประสานความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้าด้านการปศุสัตว์ให้แก่ประเทศได้มากขึ้น”
 
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่อง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยใช้ยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” และ “ตลาดนำการผลิต” ในการสนับสนุนสินค้าภาคการเกษตร
 
 
ข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
 

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลักเศรษฐกิจ BCG Model เป็นนโยบายที่ภาครัฐผลักดันการพัฒนาประเทศโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ดังนั้นทางกรมปศุสัตว์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโมเดลดังกล่าวจึงได้ดำเนินโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชิดชูและสร้างต้นแบบฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ที่สามารถประยุกต์หลัก BCG model มาใช้จริงให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

 

จึงได้จัดโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ซึ่งเป็นฟาร์มอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ และเป็นการเชิดชูฟาร์มที่ได้นำหลักการ BCG model มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ

1.หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy:B) ฟาร์มมีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐานสอดคล้องตามหลักการปศุสัตว์อินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร

2.หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy;C) มีการนำทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืน พึ่งตนเองได้มาก หมุนเวียนปัจจัยการผลิตได้ดี และใช้หลัก zero-waste ในฟาร์ม

3.หลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy;G) เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว การประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสียจากฟาร์ม รวมทั้งเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2565 มีฟาร์มปศุสัตว์แอินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นฟาร์มต้นแบบจากกรมปศุสัตว์จำนวน 13 ฟาร์ม โดยในจำนวนนี้ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นระดับยอดเยี่ยม 3 ฟาร์ม ได้แก่

1.ไร่ผึ้งฝนฟาร์ม ระดับยอดเยี่ยม ประเภทฟาร์มโคนมอินทรีย์
2.บริษัท ฮิลไทรบ์ ออร์แกนนิคส์ จำกัด ระดับยอดเยี่ยม ประเภทฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์
3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม ระดับยอดเยี่ยม ประเภทแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์

นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกอีก 10 ราย ได้แก่

ฟาร์มโคนมอินทรีย์ต้นแบบ 1) โคบาลฟาร์ม 2) ฟาร์มสาธิตแดรี่โฮม 3) อรพรรณฟาร์ม
ฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ต้นแบบ 1) สถานีเกษตรหลวงปางดะ 2) ฟาร์มวังไทร 3) ภูเชียงทา ออร์แกนิค ฟาร์มแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ต้นแบบ 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สกลนคร 2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว 3) ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ 4) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์กาญจนบุรี

“ฟาร์มเหล่านี้เป็นต้นแบบที่เด่นชัดในการนำหลัก BCG model มาใช้ปฏิบัติจริงในฟาร์มให้เกิดเป็นรูปธรรมจนเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการทำปศุสัตว์อินทรีย์นั้น มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้สารจากธรรมชาติ เช่น สมุนไพรไทย เพื่อลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมีและยาสัตว์ เลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังสอดรับตาม BCG model ได้อย่างลงตัว ”

ข้อมูล : Ch7

 

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ว่าราคาหมูพุ่งอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละมีการปรับขึ้นราคาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกกิโลกรัมละ 5 บาท โดยมีราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มประจำวันที่ 16 เมษายน 2565 ที่กิโลกรัมละ 96-98 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีราคาระดับสูงที่สุดในโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) นั้น

 

​นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากทวีปยุโรปซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาวะสงครามในประเทศยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารและน้ำมันที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในการทำระบบการป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม การพักคอกและการปรับปรุงเพื่อเตรียมความพร้อมระบบการเลี้ยงก่อนการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

รวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาเนื้อสุกรจึงจะปรับราคาลดลง สำหรับสถานการณ์ของโรค ASF นั้น นับแต่พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จากการควบคุมและดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในทุกพื้นที่ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้น จนถึงปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อไป

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจประเมินระบบการป้องกันโรคของฟาร์มสุกร รวมทั้ง ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระบาดในสุกรเพื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ กำจัดแมลงและสัตว์พาหะในฟาร์ม และขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการบริโภคเนื้อสุกรขอให้เลือกซื้อเนื้อสุกรที่มาจากแหล่งผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้รับสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และต้องนำมาปรุงสุกทุกครั้งก่อนการบริโภคเพื่อสุขอนามัยที่ดีและขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสุกร ไม่ต้องตื่นตระหนกกับข่าวสารที่มีข้อมูลไม่แน่ชัด หากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือประชาชนทั่วไปต้องการข้อมูลเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์หรือสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดตามผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

ข้อมูล : มติชน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยภาพรวมความต้องการด้านอาหารสัตว์ตามชนิดสินค้าปศุสัตว์ ที่คาดการณ์ถึงปริมาณการใช้อาหารสัตว์ในปี 65 จำนวน 22.41 ล้านตัน และคาดการณ์ในปี 66 ประมาณ 23.27 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อมีความต้องการใช้อาหารสัตว์มากถึง 40% ตามด้วยอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ที่ 34% และ 11% ตามลำดับ

ดังนั้น ทำให้ความต้องการวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพดเมล็ด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว และปลาป่น ยังคงมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปี 65 และ 66 และด้วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับราคาสูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาต้นทุนราคาอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้

กรมปศุสัตว์ ได้พัฒนาและแนะนำแนวทางการลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เช่น ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น การลดปริมาณการสูญเสียอาหารสัตว์ในขึ้นตอนการผลิต และการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ร่วมกันกับเกษตรกรรายอื่น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลงให้ได้มากที่สุด เช่น การใช้หัวอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารข้นที่มีการผสมสูตรให้มีค่าโปรตีนสูง การนำไปใช้โดยเกษตรกรนำไปผสมกับวัตถุดิบแหล่งพลังงานที่สามารถหาได้เองในท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวเปลือกที่มีในยุ้งฉางที่บ้านนำมากะเทาะเปลือก ปลายข้าวหัก รำ เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้ข้าวเปลือกที่กะเทาะเปลือกออก ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรสามารถหาได้ในท้องถิ่น มาเป็นวัตถุดิบในการผสมอาหารสัตว์ เช่น อาหารไก่ไข่ อาหารสุกร ส่วนผู้ประกอบการ แนะนำให้เพิ่มการซื้อและใช้วัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ภายในประเทศ เช่น ข้าวและผลพลอยได้จากข้าว และมันสำปะหลัง และยกระดับการผลิตวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ในประเทศ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้พัฒนา และแนะนำสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทย เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าอ เช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกระเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ หากใช้ปริมาณที่ไม่เหมาะสมในสูตรอาหารสัตว์ อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ส่งผลกระทบต่อผลผลิต หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้ กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ จัดหน่วยให้บริการจัดเคลื่อนที่ ณ ฟาร์มเกษตรกร เพื่อแนะนำการให้อาหารสัตว์ และการปรับสูตรอาหารสัตว์

ขัอมูล : อินโฟเควสท์

การเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย คือกำไรสุขภาพไปกว่าครึ่ง “ปศุสัตว์ OK” คือสัญลักษณ์ของเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ ว่า ปลอดสาร ปลอดโรค ถูกสุขอนามัย มั่นใจตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดการผลิต

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหาร (Food safety) มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคอาหารปลอดภัย ได้ให้ความสำคัญดำเนินงานและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินโครงการ “ปศุสัตว์ OK” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยผลักดันให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภค

โครงการ “ปศุสัตว์ OK” เป็นการสร้างมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยครอบคลุมตลอดกระบวนผลิต ตั้งแต่ระบบการเลี้ยงสัตว์ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) โรงฆ่าที่ถูกกฎหมายกระบวนการฆ่าสัตว์ถูกสุขลักษณะ โรงแปรรูปที่ได้มาตรฐาน และสถานที่จำหน่ายถูกสุขอนามัย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน

โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการเขียงสะอาด และโครงการนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ของประเทศไทย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK เป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

 โดยสถานที่จัดจำหน่ายที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ สินค้าที่นำมาขายต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต ถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง ส่วนไข่ไก่ก็ต้องผลิตจากสถานที่รวบรวมไข่ที่ได้รับการรับรอง วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานที่จำหน่ายปศุสัตว์ OK กรมปศุสัตว์ได้ขยายผลนำ Google Map มาใช้ โดยได้เริ่มทดลองใช้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ และได้ให้ทางภูมิภาคช่วยขับเคลื่อนโครงการ 1 สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์ OK ต่อ 1 อำเภอ เพื่อเป็นการกำกับควบคุมดูแลสถานที่จำหน่าย ให้ผู้ประกอบการมีการรักษาความสะอาดสถานที่ขายสินค้า มีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี มีสุขลักษณะในการจัดเก็บและการจำหน่ายสินค้าโดยใช้กรรมวิธีที่เหมาะสม รวมทั้งรักษาความสะอาดของอุปกรณ์และของใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำหน่ายสินค้าที่สะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ปัจจุบันโครงการปศุสัตว์ OK ได้ให้การรับรองสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด และมีสถานที่จำหน่ายเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 7,000 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในตลาดสด และสถานที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Modern trade

โดยสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองภายใต้โครงการฯ จะได้รับใบประกาศและป้ายสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ไว้แสดง ณ จุดจำหน่าย เมื่อผู้บริโภคเห็นตราสัญลักษณ์นี้ จึงมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ที่ซื้อไปบริโภคนั้น มีคุณภาพ ปลอดภัย และผ่านการตรวจสอบรับรองจากกรมปศุสัตว์

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย มั่นใจได้ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ปลอดสารตกค้าง ปลอดโรค ถูกสุขอนามัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิตแน่นอน ดังนั้น “เลือกซื้อสินค้าครั้งใด มองหาตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK”

 

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

ปศุสัตว์เตือน! สภาพอากาศแปรปรวนให้ดูแลสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด

วันที่ 5 เม.ย.65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานของผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 พื้นที่ติดเทือกเขาพังเหย ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ได้พบสัตว์ปีกของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้เพื่อขายเสียชีวิต 200 กว่าตัว ทำให้สูญเสียรายได้จากการเลี้ยงครั้งนี้เป็นจำนวนมาก นายสมศรี กองเงินนอก อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 453 ชาวบ้านหมู่ที่ 1 และชาวบ้านห้วยหินฝน หมู่ที่ 11 กล่าวว่าไก่ที่ตาย ส่วนมากเป็นไก่อายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุการตายเกิดจากสภาพอากาศเย็ดจัดถึง 17 องศา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในปัจจุบัน ประกอบกับไม่พบบาดแผลและวิการอื่นๆ ที่สื่อให้ถึงการเป็นโรคระบาด

ในปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน จากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง อาจทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทั่วทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด โดยจัดเตรียมวิตามินและเกลือแร่ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง จัดเตรียมโรงเรือนเพื่อเป็นที่กำบังลม ฝนให้กับสัตว์ปีกในโรงเรือน

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความห่วงใยถึงเกษตรกรทุกรายที่ได้รับผลกระทบ ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ และตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ให้คำแนะนำการสร้างความอบอุ่นให้แก่สัตว์สัตว์ปีก เช่น จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถเป็นที่กำบังให้สัตว์จากสภาพอากาศหนาวหรือฝน เช่น ผ้าใบ และพร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาโรคระบาดในสัตว์ปีก และส่งเสริมยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management ; GFM) เพื่อเพิ่มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถป้องกันโรคระบาดต่างๆได้อีกด้วย

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลาอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

 

 

 

ข้อมูล : สยามรัฐ

 

หมวดหมู่รอง

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

 

 

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

8 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา เพราะปี 2561 ครบรอบการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี หลังเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย โดยใช้หัวหมูรวมจำนวน 4,247 หัว จะเป็นหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของวงการสุกรไทย ที่มีพัฒนาการการเลี้ยงสู่ระดับโลก แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันนำพากันสู่อาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ให้เป็นมรดกการทำกินตกทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน นอกเหนือจากการสร้างอาหารปลอดภัยให้ประชากรของชาติ

ความพยายามเปิดตลาดเนื้อสุกรสู่ประเทศไทยที่มีมากอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา โดยอาจมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ จนอาจกลายเป็นการสร้างปมบาดหมางกันระหว่างพลเมืองของสองประเทศ ที่มีบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมาประกอบธุรกิจและได้รับการอุดหนุนด้วยดีเสมอมากับพลเมืองของไทย  

ในพิธีครั้งนี้นอกเหนือจากการไหว้สักการะและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้นำภูมิภาค พร้อมกันนี้จะมีการหนังสือถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์           ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC) และท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย  โดยเน้นให้มองลึกถึงมิตรภาพและการไม่เปิดตลาดโดยมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของพลเมืองทั้งสองประเทศ

เนื้อหาให้จดหมายภาษาอังกฤษจะเป็นดังนี้ :

เรียน   ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์
          ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)
          สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC)
ผ่าน    ท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

          เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย ได้ติดตามความพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา และความพยายามช่วยเหลือการค้าเนื้อสุกรของเกษตรกรสหรัฐ โดยการเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) มาเป็นระยะหลายปี

          ข้าพเจ้าขอแนะนำให้รู้จักกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยที่มีผลผลิตสุกรท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศประมาณกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี และไม่ปรากฏว่าขาดแคลนผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่ประการใดในทุกๆ ปี หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไทยและภาครัฐร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรเพื่อการเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงชีพของพลเมืองไทย โดยดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การจัดการสุขภาพสัตว์ เพื่อเกษตรกรของประเทศและอาหารปลอดภัยของประชากรไทย

          อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเป็นเสาหลักของการบูรณาการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์โดยเป็นห่วงโซ่อุปทานของทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสุกรและเนื้อสุกรของสหรัฐและการส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรมพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ และเป็นการสร้างผลบวกต่อดุลการค้าของประเทศ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงสุกรของไทยก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของโลก

          บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับและสนับสนุนด้วยดีจากคนไทยซึ่งกว่าร้อยละ 25 เป็นประชากรจากภาคเกษตรกรรมที่รวมไปถึงประชากรที่อยู่ในภาคปศุสัตว์ เช่น อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ฯลฯ

          ถ้ารัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากสหรัฐ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐและผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นภัยพิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรพืชอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทย จากการเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน กับ สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก

          การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกแต่ไม่ใช่กระทำการในลักษณะทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เพราะว่าการเกษตรเป็นการเลี้ยงชีพพื้นฐานของมนุษยชาติ ฝากให้ท่านพิจารณาด้วยว่ามนุษยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจระหว่างประเทศ

          ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอแนะนำสหรัฐว่าควรหยุดเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรส่งออกมายังประเทศไทยที่มีผลผลิตมากอย่างท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่มีการคัดค้านต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรไทย ผู้เลี้ยงสุกรไทยใคร่ขอให้ตระหนักบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างพลเมืองสหรัฐอเมริกากับพลเมืองของไทย

 

ข้อมูลจาก : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย