ข่าวแวดวงปศุสัตว์

วันที่ 10 มิ.ย.65
นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่ผู้บริโภคในจังหวัดเลยพบไข่ไก่ที่ซื้อมามีลักษณะผิดปกติ โดยเปลือกไข่มีลักษณะเหี่ยวย่นแตกต่างจากเปลือกไข่ปกติทำให้มีความกังวลว่าเป็นไข่จริงหรือไม่ ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันว่าในประเทศไทยไม่มีไข่ปลอมที่มาหลอกขายให้บริโภคแน่นอน ส่วนไข่ดังกล่าวนั้น เป็นไข่ไก่จริงที่มีลักษณะผิดปกติจากการสร้างไข่ของแม่ไก่ โดยมักเกิดจากแม่ไก่ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง มีการติดเชื้อที่ส่วนของท่อนำไข่ในกระบวนการสร้างเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่ที่ควรจะเรียบเนียนมีลักษณะเหี่ยว ขรุขระคล้ายลูกกอล์ฟ และไข่ขาวมักจะเหลวกว่าปกติ ซึ่งความผิดปกติในการสร้างเปลือกมีได้หลายรูปแบบทั้งเปลือกนิ่ม เปลือกซีด หรือรูปร่างคอดเว้าเหมือนน้ำเต้า โดยปกติเราจะไม่พบเห็นในท้องตลาดทั่วไปเนื่องจากไข่ผิดปกติเหล่านี้จะถูกจัดเป็นไข่ตกเกรดที่มักคัดแยกออกตั้งแต่ระดับฟาร์มไก่ไข่แล้ว และมาคัดออกอีกครั้งที่ศูนย์รวบรวมไข่ ซึ่งปลายทางไข่ตกเกรดเหล่านี้มักนำไปแปรรูปด้วยความร้อนหรือผลิตเป็นเบเกอรี่ หรือหากสภาพไม่เหมาะสมในการรับประทานก็จะทำลายทิ้ง แต่กรณีที่พบข่าวดังกล่าวน่าจะมาจากการที่รถเร่ไปรับซื้อไข่ผิดปกติเหล่านั้นมาจากแหล่งผลิตเพราะราคาทุนจะถูกกว่ามาก แล้วนำมาขายปลีกในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจสับสนกับไข่ปกติที่ควรรับประทาน ทั้งนี้ถึงแม้ว่าไข่ดังกล่าวจะยังสามารถรับประทานได้ตามปกติเพราะความผิดปกติของแม่ไก่นี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่ก็ควรจะปรุงไข่ให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
 
โอกาสนี้ กรมปศุสัตว์ขอแสดงความห่วงใยประชาชนในการเลือกซื้อไข่ ข้อระวังสำคัญคือหากไข่ที่ขายนั้นมีราคาต่ำกว่าท้องตลาด ให้ตรวจสอบก่อนเสมอว่าเป็นไข่เก่าหรือไข่ผิดปกติหรือไม่ ดังเช่นกรณีข่าวข้างต้น ผู้ซื้อสามารถสังเกตเปลือกได้ด้วยตาเปล่าว่าผิดปกติหรือไม่ หากซื้อไข่ผิดปกติเหล่านี้มา อายุการเก็บไข่ก็มักจะสั้นกว่าไข่ปกติและคุณภาพไข่ก็ยิ่งลดลง วิธีการเลือกซื้อไข่สด ให้สังเกตที่เปลือกไข่ ไข่สดจะมีนวลไข่คล้ายแป้งติดอยู่ เปลือกเรียบไม่ขรุขระ เปลือกไข่ภายนอกเป็นสีนวลตามสายพันธุ์ไก่ ไม่มีสิ่งสกปรก เปลือกไข่ไม่แตก บุบ ร้าว หากเขย่าจะไม่มีเสียงน้ำกระฉอกภายใน สังเกตวันที่ผลิตและหมดอายุหากมีการแสดงที่ฉลากของไข่ ทั้งนี้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อไข่ไก่คุณภาพได้จากการมองหาสถานที่จำหน่ายไข่สดที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของไข่ไก่ที่ผลิตจากระบบมาตรฐานได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยในสินค้าปศุสัตว์สามารถสอบถามได้ทางแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
 
 
ข้อมูล : สยามรัฐ

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า   เนื่องด้วยเข้าสู่หน้าฝน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ และจากอิทธิพลของพายุลมมรสุมเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์แมลงพาหะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำเกิดอาการป่วยและในกรณีที่รุนแรง ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังเช่น

โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยพบครั้งแรกในปี 2564 ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 เกิดจากเชื้อไวรัสพบเฉพาะในโคกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน ติดต่อได้จากสิ่งคัดหลั่งและมีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน มีพาหะนำโรคติดต่อระหว่างสัตว์และสัตว์ ได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวัน

กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ มาอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดโดยเร็ว ลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ตามหลัก “รู้เร็ว โรคสงบได้เร็ว” นั้น

กรมปศุสัตว์ โดยสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาดของโรค ตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ ดังนี้

1. การเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว เพื่อให้การควบคุมโรคให้สงบอย่างรวดเร็ว ลงพื้นที่และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ (E-Smart surveillance) เพื่อการรายงานการเกิดโรคในพื้นที่ โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีการรายงานการระบาดของโรคทุกวัน

2. การควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวดตามแนวทางที่กรมปศุสัตว์กำหนด ตามแหล่งรวมสัตว์ ตลาดนัดค้าสัตว์ และตามชายแดน

3. การควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยให้เกษตรกรมีการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์และบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดจำนวนแมลงพาหะในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การกางมุ้ง ใช้ไฟไล่แมลง กับดักแมลง เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง

4. การรักษาสัตว์ป่วย โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ จึงต้องจำเป็นที่จะต้องรักษาตามอาการ โดยหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของกรมปศุสัตว์

5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้โคกระบือ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้

ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินจากต่างประเทศ และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกรมปศุสัตว์แล้วจำนวน 360,000 โด๊ส ได้อำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัคซีนจำนวน 572,000 โด๊ส ให้สมาคมผู้เลี้ยงโครวม 13 สมาคม ได้รับบริจาคจากบริษัทผู้นำเข้าอีกจำนวน 100,000 โด๊ส

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ เพิ่มเติม สำหรับจัดซื้อวัคซีนเพิ่มจำนวน 5,000,000 โด๊ส เพื่อให้โค กระบือได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ ให้มีภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่สามารถลดการระบาดของโรคและทำให้โรคสงบโดยเร็ว ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการกระจายวัคซีนให้กับพื้นที่และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรทั้งหมดแล้ว

6. การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคและสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ แนวทางและร่วมมือในการควบคุม ป้องกันโรค เพื่อลดความสูญเสีย

" กรมปศุสัตว์ได้เร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกินในโคกระบือ ประสานงานกับจากผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ., อบต., เทศบาล)

 (ข้อมูลวันที่ 25 พฤษภาคม 2565) ประกอบด้วย การรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 206,532 ราย หยดหรือราดยาป้องกันแมลง จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 37,967 ราย พ่นยากำจัดแมลง จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 226,233 ราย พ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 173,622 ราย แจกยากำจัดแมลงแก่เกษตรกร จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 133,735 ราย

และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกิน และการป้องกันโรค จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 433,610 ราย ซึ่งจากผลการดำเนินงานอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ร่วมกับการดำเนินงานให้การช่วยเหลือเกษตรกรกับหน่วยงานในพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด และเพื่อให้ภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่ดีได้

กรมปศุสัตว์จึงต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรสัตว์ เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ต่อไป และขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกินที่ทางกรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและชุมชน  " 

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันควบคุมโรคและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร กรมปศุสัตว์ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย
โดยจากการสำรวจข้อมูลของกรมปศุสัตว์ สถานการณ์การระบาดของโรค ASF สะสมทั่วโลก พบการระบาดทั้งหมด 42 ประเทศ 4 ทวีป ประกอบด้วย ทวีปยุโรบ 17 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ โอเชียเนีย 1 ประเทศ และทวีปเอเชีย 16 ประเทศ
ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ และมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ จากมาตรการควบคุมโรคที่ออกมาอย่างเข้มข้นของกรมปศุสัตว์ ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยนั้นกลับมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 - ปัจจุบัน
 
พบการระบาดแล้วทั้งสิ้น 30 จังหวัด โดยมีถึง 26 จังหวัดที่สามารถควบคุมโรค และตรวจซ้ำไม่เจอโรคแล้วมากกว่า 30 วัน ซึ่งในภาพรวมขณะนี้ในประเทศไทยสามารถควบคุมและกำจัดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มมีการออกมาตรการต่างๆ พร้อมสนับสนุนการกลับมาเลี้ยงใหม่ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการแล้ว
สำหรับแนวทางที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการฟาร์มสุกรจะกลับมาเลี้ยงใหม่นั้น กรมปศุสัตว์ได้มีข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับทุกฟาร์ม โดยให้เกษตรกรต้องเข้ารับการอบรมการเลี้ยงและป้องกันโรค ปีละ 1 ครั้ง ในรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องไม่มีรายงานโรคอย่างน้อย 30 วัน ระบบฟาร์มต้องเป็น “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม” (Good Farming Management ; GFM) ขึ้นไป และจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เข้าไปประเมินความเสี่ยง ฟาร์มทั่วไปต้องได้ 60 คะแนนขึ้นไป ฟาร์มที่เคยพบโรคหรือมีความเชื่อมโยงโดยตรง ต้องได้คะแนน 80 ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับฟาร์มกลุ่มเสี่ยงทั้งที่เคยพบผลบวกหรือมีผลเป็นลบแต่มีความเสี่ยง จำเป็นจะต้องพักฟาร์มไม่น้อยกว่า 90 วัน และเริ่มเลี้ยงสุกรได้ ร้อยละ 10 – 15 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และเก็บตัวอย่าง หากไม่มีการะบาดของโรคก็สามารถเลี้ยงได้ตามปกติ
กรมปศุสัตว์ยังได้ร่วมกับหน่วยงานมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจจำนวนสุกรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 พบว่ามีจำนวนสุกรแม่พันธ์ ประมาณ 1 ล้านตัวในระบบ โดยปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่เดือนละ 1.5 ล้านตัว และจากผลการสำรวจสุกรขุน ในแต่ละเดือนประมาณ 9 ล้านตัว ตามรอบการผลิตสุกรขุน ประมาณ 6 เดือน ดังนั้นต้องขอเน้นย้ำกับประชาชน ปริมาณสุกรขุนมีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูหมูป่า(เพิ่มเติม) โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ทันภายในปีงบประมาณต่อไป
 
ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดในการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น  ว่า  กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่กระบวนการผลิต ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้มาตรฐาน โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปมีคุณภาพและถูกสุขอนามัย จนถึงผู้บริโภค

 ซึ่งไข่ไก่นับเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ผู้บริโภคนิยมนำมาปรุงประกอบการทำอาหารเพื่อรับประทานได้ทุกวัน และอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพมาตรฐานตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและสามารถส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศไทย

ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงในลักษณะเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในระบบการผลิต การปรับปรุงสายพันธุ์ การจัดการอาหาร และการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในปี 2564 มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวนเฉลี่ย 50.9 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่ถึง 15,420 ล้านฟอง นับเป็นมูลค่าสูงถึง 42,405 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลกส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันทางการค้า จึงเป็นการดีที่จะมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้า เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ความสำคัญในการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น

มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่น ลดความเสี่ยงและควบคุมปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากฟาร์มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อให้มีมาตรฐานสินค้าเกษตรครอบคลุมการผลิตไข่ไก่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด ASEAN Economic Community (AEC) และต่างประเทศได้

 

ดำเกิง คำแหง  นักวิชาการด้านปศุสัตว์  กล่าวว่า การเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพของเกษตรกรไทยมายาวนาน มีผู้เลี้ยงรายเล็กรายย่อยทั่วประเทศนับแสนคน ตลาดไข่ไก่เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรเกิดเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้มากมาย เช่น

สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่ระดับราคามีขึ้นมีลงจากปัจจัยหลากหลายที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลต่างๆ กินเจ ปิดเทอม อากาศร้อนแล้ง ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ... ไข่จึงเป็นสินค้าเกษตรที่อ่อนไหวมากหากมีผลผลิตออกสู่ตลาดเยอะราคาก็ตกต่ำเกษตรกรขาดทุน เมื่อไหร่ที่เกษตรกรขาดทุนหนัก และเลี้ยงลดลง ปริมาณไข่ในตลาดน้อยลงราคาก็กลับมาดี เป็นแบบนี้ตามกลไกตลาดเสมอ

กรมปศุสัตว์ เป็นภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคนเลี้ยงไก่ไข่ และกรมปศุสัตว์ในยุคปัจจุบันก็ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่ทำงานถึงลูกถึงคนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆอย่างทันการณ์เพื่อให้ไข่ไก่เกิดเสถียรภาพ มีการวางแผนการผลิต ตั้งแต่ต้นทางคือการควบคุมปริมาณปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ ไปจนถึงลูกไก่ และแม่ไก่ยืนกรง เพื่อให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่สมดุลกับปริมาณการบริโภคให้มากที่สุด อันจะนำไปสู่ราคาไข่ไก่ที่เหมาะสม เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

กรมฯยังทำหน้าที่ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ให้เกษตรกรมีมาตรฐานการผลิตไข่ที่ดีและมีระบบป้องกันโรคที่ดี เมื่อผนวกความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจของคนในแวดวงเดียวกันก็ทำให้ทุกวันนี้วงการไก่ไข่มีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มที่ดีที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งๆที่เป็นงานยาก เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหวที่เมื่อมีอะไรมากระทบเล็กน้อยก็สามารถล้นตลาดหรือขาดตลาดได้ทันที

ความเสียสละของผู้เลี้ยงไก่ไข่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึง ในยามที่คนเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมดบอบช้ำจากราคาไข่ตกต่ำติดดินเพราะผลผลิตล้นตลาด กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในขณะนั้น ให้ช่วยปลดพ่อแม่พันธุ์ก่อนอายุปลด ซึ่งก็ได้เห็นผู้เสียสละหลายรายเฉือนเนื้อตัวเอง ปลดพ่อแม่พันธุ์และส่งออกไข่ไก่ รวมเป็นมูลค่าถึงร้อยล้านบาท เพื่อยกระดับราคาไข่ไก่ให้สูงขึ้น เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อชีวิตเกษตรกรรายเล็กรายน้อย... นี่คือความช่วยเหลือกันในวงการไข่ไก่ที่ผมเคยเห็น 

ผู้คร่ำหวอดของวงการไข่ไก่ เล่าเหตุการณ์ย้อนรอยอดีตให้ฟังว่า เดิมประเทศไทยปล่อยเสรีพ่อแม่พันธุ์ (PS) ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิต 23 ราย ต่อมาไข่ล้นตลาด ทำให้ธุรกิจไก่ไข่ตกต่ำมาก บริษัทพ่อแม่พันธุ์ล้มหายตายจากไปบางส่วน เหลืออยู่เพียง 16 ราย เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงขอร้องให้ “กรมปศุสัตว์” ลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ เพื่อหยุดซัพพลายที่มากเกินไป เป็นที่มาของการที่กรมปฏิบัติตามคำขอของเกษตรกร จำกัดบริษัทที่เหลือ 16 รายไม่ให้มีเพิ่มขึ้น ตามคำขอนั้น จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ตอนนั้น (2560) มีอยู่ราว 6 แสนตัว 16 บริษัทจึงเริ่มต้นทำกิจกรรมลดแม่ไก่เป็นขั้นบันได

คือให้เหลือ 5.5 แสนตัวในปี 2561 และเหลือ 4.4 แสนตัวในปี 2562  ทุกบริษัทลดในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ดังนั้น ใครมีแม่ไก่จำนวนมากก็ต้องเสียสละปลดมาก เป็นต้น นับเป็นครั้งสำคัญที่ได้เห็น 16 บริษัท ร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อเกษตรกรและเพื่อส่วนรวมของวงการไก่ไข่ เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์ ซึ่งทุกรายเป็นผู้ปฏิบัติ หรือกล่าวได้ว่า จำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ถูกกำหนดโดยเอ้กบอร์ด นักวิชาการ และผู้รู้ที่เกี่ยวข้อง ทำการประเมินและคำนวณมาแล้วว่าความเหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ กระทั่งได้เริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์ในปีนี้ที่ราคาไข่มีเสถียรภาพมากขึ้น

ปัจจุบันการเปิดฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพียงมีต้องเสนอแผนการผลิตและมีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจนว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงระดับราคาไข่ไก่โดยรวมของประเทศ เท่านี้ก็สามารถเปิดได้แล้ว ... เอ้กบอร์ด (คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์-Egg Board) เป็นกลางและยึดหลักความยั่งยืนของทั้งอุตสาหกรรมเสมอ

สำหรับประเด็นปู่ย่าพันธุ์ (GP) นั้นเปรียบเหมือนความมั่นคงทางอาหารในด้านพันธุ์ไก่ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากประเทศใดไม่มีฟาร์ม GP ย่อมต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศตลอดเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ โรคระบาดสัตว์ ปัญหาสงคราม หรือการขนส่ง ย่อมกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศทันที โชคดีที่ประเทศไทยมีปู่ย่าพันธุ์อยู่ภายในประเทศ ซึ่งจำนวนที่ผลิตก็เป็นไปตามข้อกำหนดของเอ้กบอร์ด

คงต้องขอเป็นกำลังใจให้ “กรมปศุสัตว์” ที่นอกจากจะต้องจัดการปัญหาเสถียรภาพราคาไข่ไก่แล้ว ยังต้องรับมือผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายรูปแบบ โดยเฉพาะ "คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน" ที่เมื่อตอนคนอื่นเสียสละกลับอยู่เฉย แต่พอภาวะไข่ดีขึ้นกลับออกมาเรียกร้องจากสังคม ขอให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ของตนเองต่อไป ดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในองค์รวมให้ได้ประกอบอาชีพที่ดี และผลิตไข่เพื่อผู้บริโภคไทยได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

ปศุสัตว์ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีเกษตร ยกระดับคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัย รุกเดินหน้า “โครงการ 1 สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์ OK ต่อ 1 อำเภอ”

วันที่ 7 มิ.ย.65 นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ตามนโยบายของท่านดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยอาหาร เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค เกษตรกรมั่นคง ภาคเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหารที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ได้พัฒนาภารกิจด้านคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยยกระดับการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK ตั้งแต่ปี 2558 บูรณาการร่วมกับเกษตรกร ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและขยายผลการดำเนินโครงการด้านความปลอดภัยอาหาร โครงการ “ปศุสัตว์ OK” ไปทุกอำเภอทั่วประเทศ ให้การรับรองในขอบข่ายสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย มีแหล่งที่มาชัดเจน กระบวนการผลิตถูกสุขอนามัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้นั้น

กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ จึงได้ประสานงานกับทางสำนักงานปศุสัตว์เขตและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพื่อช่วยขับเคลื่อนและขยายผล “โครงการ 1 สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์ OK ต่อ 1 อำเภอ” ภายใต้โครงการปศุสัตว์ OK เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าปศุสัตว์ที่สะอาด ปลอดภัย และผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์จากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565) มีสถานที่จำหน่ายโครงการปศุสัตว์ OK รวมทั้งหมดจำนวน 7,973 แห่ง ประกอบด้วยสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์โครงการปศุสัตว์ OK ทั้งหมด จำนวน 4,896 แห่ง และสถานที่จำหน่ายไข่สดโครงการปศุสัตว์ OK ทั้งหมด จำนวน 3,077 แห่ง โดยสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์นั้นจำนวนอำเภอที่มีสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์โครงการปศุสัตว์ OK มีจำนวน 818 อำเภอ (จากทั้งหมด 77 จังหวัด จำนวน 935 อำเภอ) และสำหรับสถานที่จำหน่ายไข่สด จำนวนอำเภอที่มีสถานที่จำหน่ายไข่สดโครงการปศุสัตว์ OK มีจำนวน 624 อำเภอ (จากทั้งหมด 77 จังหวัด จำนวน 935 อำเภอ) โดยผู้บริโภคสามารถค้นหาแหล่งร้านค้าปศุสัตว์ OK ได้โดยใช้แอปพลิเคชันแผนที่ (Google Maps) และค้นหาคำว่า ร้านปศุสัตว์ OK เพิ่มความสะดวกการค้นหาสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์และไข่สดใกล้บ้านในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการพัฒนาและขยายผลการดำเนินโครงการให้ครบทุกอำเภอ
ทั่วประเทศ ได้สั่งการไปยังสำนักงานปศุสัตว์เขตให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ได้แจ้งไปยังผู้ประกอบการกลุ่มโมเดิร์นเทรด เพื่อขออนุญาตให้กรมปศุสัตว์เผยแพร่ข้อมูลสถานประกอบการผ่านแอปพลิเคชันแผนที่ (Google Maps) สำหรับขั้นตอนการระบุพิกัดสถานที่จำหน่ายโครงการปศุสัตว์ OK ลงบนแอปพลิเคชันแผนที่ (Google Maps) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) เข้าแอปพิเคชันแผนที่ 2. เมื่ออยู่ตำแหน่งร้านค้า เข้าสู่เมนูส่วนร่วมและเลือกที่หัวข้อเพิ่มสถานที่ 3) กรอกรายละเอียดในกล่องข้อความให้ครบถ้วน ระบุชื่อ ร้านปศุสัตว์ OK แล้วตามด้วยชื่อร้าน และที่อยู่ จากนั้นทำการบันทึก 4) ทำการกดจุดยืนยันพิกัดร้านค้าและบันทึก และ 5) กรอกรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น หมายเลขติดต่อ เวลาทำการเปิด-ปิด และรูปภาพประกอบหน้าร้าน เป็นต้น และทำการส่งข้อมูลโดยกดปุ่มลูกศรที่มุมขวาบนของสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ http://certify.dld.go.th หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

ข้อมูล : สยามรัฐ

กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าในโซเชียลแห่แชร์ ซูชิหมูดิบ เครื่องใน ตับและหัวใจ ซึ่งการทานหมูดึบ อาจจะทำให้เป็น โรคไข้หูดับ ได้
อย่างน้อยต้องทานหมูที่ผ่านการทำสุกด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียล เป็นเวลามากกว่า 10 นาที ก่อนที่จะนำมากินได้
เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค ไข้หูดับ โรคพยาธิ และโรคอื่นๆ ที่มาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ และเพื่อความมั่นใจควรทานหมูที่มาจากฟาร์มที่มีแหล่งที่มาชัดเจน
โรคหูดับเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย STREPTOCOCCUS SUIS สามารถพบได้ทั่วไปในระบบทางเดินหายใจของสุกร เช่น ช่องจมูก และต่อมทอนซิล ซึ่งหมูจะไม่แสดงอาการป่วยออกมา
เชื้อโรคสามารถเข้าสู่คนได้โดยตรง โดยผ่านบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือสุกรที่ติดเชื้อ และจากการบริโภคเนื้อ เครื่องใน ผู้ป่วย การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้คอแข็ง ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคหูดับ และอาจจะพบอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นเหียน มีไข้สูง หนาวสั่น ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ และอาจทำให้ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้
 
ข้อมูล : จัน ลั่นทุ่ง

วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. นายประภัตร  โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันดื่มนมโลก 1 มิถุนายน ประจำปี 2565 (World Milk Day 2022) เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคนมมากขึ้น และช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้มั่นคง โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน ดร.ดำรง ศรีพระราม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ Mr.Sonevilay Nampanya Livestock Development Officer องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ นายพีระ ไชยรุตย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ

                นายประภัตร  โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันดื่มนมโลก” หรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญและร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคนมโดยในปี 2565 ได้กำหนดแคมเปญไว้ว่า EnjoyDairy” ภายใต้แนวคิด “สร้างความสุข เสริมภูมิคุ้มกัน ดื่มนมทุกวัน ดื่มได้ทุกวัย บริโภคนมได้หลากหลายเมนู” เพื่อรณรงค์การบริโภคนมในสังคมไทย มุ่งสร้างความเข้าใจและการรับรู้ ในวงกว้าง อีกทั้งเป็นการช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยมีความมั่นคงด้านอาชีพการเลี้ยงโคนม ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในการส่งเสริมการบริโภคนมของคนไทยให้เพิ่มขึ้นจาก 18 ลิตร/คน/ปี เป็น 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570 

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลกได้รับความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กรมอนามัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายภาคีต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชียน สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจให้ประชาชนได้เข้าร่วมอย่างมากมาย เช่น การออกบูธจำหน่ายสินค้าของบริษัทห้างร้านต่างๆ สาธิตการทำเมนูจากนมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นม กิจกรรมถ่ายภาพหรือวีดีโอคู่กับนมหรือผลิตภัณฑ์นมโพสต์และแชร์ลุ้นรับนมดื่มฟรี การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมราคาพิเศษผ่านโซเชียลมีเดีย และกิจกรรมอภิปรายให้ความรู้เรื่องนมในหัวข้อต่างๆ เป็นต้น

             

  

ข้อมูล/ข่าว : กรมปศุสัตว์

ปศุสัตว์ลุยตรวจสอบข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากอินเดีย ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักร ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 กำหนดไว้ 146,894 ตัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้การนำเข้า-ส่งออก การผลิต และการขายทั้งอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้คุณภาพมาตรฐาน

ตลอดจนมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีและโฆษณาตามความเป็นจริง สอดคล้องกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มีการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต และขอใบรับรองระบบประกันคุณภาพอาหารสัตว์หรือใบรับรองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ปลอมปน เสื่อมคุณภาพ ผิดมาตรฐาน หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง 

กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ โดยนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการขนถ่ายข้าวสาลีเมล็ดนำเข้าจากประเทศอินเดีย ณ ซีอาร์ซีการท่าเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พร้อมทั้งกำชับผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

โดยเฉพาะข้าวสาลีเมล็ด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานข้าวสาลีทุกครั้งที่มีการนำเข้า โดยเป็นไปตามแผนการนำเข้าตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักรภายในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 146,894 ตัน จากประเทศอินเดียและออสเตรเลีย จนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำเข้าแล้ว 64,220.45 ตัน

ซึ่งการนำข้าวสาลีเมล็ดมาใช้เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ควรคำนึงถึงชนิดสัตว์ ช่วงอายุการผลิต ปริมาณความต้องการของสัตว์ รวมถึงคุณค่าทางโภชนการหรือการย่อยได้ จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารช่วยย่อย กรดอะมิโน และเอนไซม์ในสูตรอาหารสัตว์ก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์ด้วย

ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์เติบโตขยายมากขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่ากองสารวัตรและกักกัน ร่วมกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรีได้ ดำเนินการทำลายซากสัตว์ประเภทซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 945 กล่อง น้ำหนัก 21,473 กิโลกรัม โดยวิธีฝังกลบ ณ ศูนย์กักกันสัตว์เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หลังจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าปฏิบัติงานตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จากได้รับรายงานทราบมาว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรมาจากต่างประเทศและเก็บซุกซ่อนไว้ในสถานที่ดังกล่าว

ซึ่งจากผลการตรวจสอบพบซากสุกร เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จึงได้ทำการอายัดซากสุกรทั้งหมดไว้ พร้อมตรวจสอบเอกสารหลักฐานแสดงแหล่งที่มา เอกสารการเคลื่อนย้าย และทำการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคระบาดสัตว์ โดยผลการตรวจสอบพบว่า ตรวจพบเชื้อโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ที่ยึดได้ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการดำเนินการกับสัตว์หรือซากสัตว์ของกลางที่เป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ซึ่งถูกยึดหรืออายัดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์หรือตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2558

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้ม ทำลายแหล่งเนื้อเถื่อน และลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ได้ตรวจสอบห้องเย็นเพื่อกันการกักตุนสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูล : ประชาธุรกิจ

ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ได้ให้กลุ่มเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากเท้าเปื่อย-คอบวม-ไข้ขาแข็ง ในสัตว์ตลอดฤดูฝนอย่างเข้มงวด แนะกางมุ้งคลุมสัตว์เลี้ยงป้องกันแมลงพาหะจนเกิดภาวะโรคระบาด

นายชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผยพร้อมขอความร่วมมือกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ทั้ง โคนม โคเนื้อ และกระบือ ซึ่งในจังหวัดของแก่น มีมากกว่า 56,000 ราย ให้เฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากภูมิคุ้มกันในสัตว์อาจจะลดลง จากภาวะฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา อาจจะส่งผลให้บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญในโค-กระบือนั้น ประกอบด้วย โรคปากและเท้าเปื่อย, โรคคอบวม และโรคลัมปี สกิน รวมถึง โรคไข้สามวัน หรือ โรคไข้ขาแข็ง อีกด้วย โดยตัวพาหะที่ทำให้สัตว์ติดเชื้อ มาจากเชื้อไวรัสผ่าน ยุง แมลงวัน และเห็บ ส่วนอาการป่วยของสัตว์ก็จะแตกต่างกันออกไป ทางปศุสัตว์ จังหวัดขอนแก่น ขอความร่วมมือให้เกษตรกรเร่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโค-กระบือ ในพื้นที่ด้วยการกางมุ้งเพื่อที่ลดแมลงที่จะกัดและดูดเลือด รวมทั้งการพ่นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคที่กล่าวมาแต่ก็ต้องเตรียมการเฝ้าระวังไว้ก่อน

ขณะที่โรคฝีดาษลิงที่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งยุโรปนั้น ทางนายชนินทร์ น่าชม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์ ก็ได้ออกมาบอกว่า ตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการพบพาหะ หรือ ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่ก็อย่าละเลย ต้องเฝ้าระวัง โดยประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลรับผิดชอบเรื่องของสัตว์ป่า ก็ยืนยันว่ายังไม่มีการติดเชื้อฝีดาษลิงจากสัตว์ในไทย พร้อมของประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้รับข้อมูลจากทางราชการและเรียนรู้ในการป้องกันโรคซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะป้องกันโรคนี้ได้ในขณะนี้

 

ข้อมูล : Ch7

หมวดหมู่รอง

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

 

 

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

8 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา เพราะปี 2561 ครบรอบการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี หลังเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย โดยใช้หัวหมูรวมจำนวน 4,247 หัว จะเป็นหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของวงการสุกรไทย ที่มีพัฒนาการการเลี้ยงสู่ระดับโลก แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันนำพากันสู่อาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ให้เป็นมรดกการทำกินตกทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน นอกเหนือจากการสร้างอาหารปลอดภัยให้ประชากรของชาติ

ความพยายามเปิดตลาดเนื้อสุกรสู่ประเทศไทยที่มีมากอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา โดยอาจมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ จนอาจกลายเป็นการสร้างปมบาดหมางกันระหว่างพลเมืองของสองประเทศ ที่มีบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมาประกอบธุรกิจและได้รับการอุดหนุนด้วยดีเสมอมากับพลเมืองของไทย  

ในพิธีครั้งนี้นอกเหนือจากการไหว้สักการะและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้นำภูมิภาค พร้อมกันนี้จะมีการหนังสือถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์           ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC) และท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย  โดยเน้นให้มองลึกถึงมิตรภาพและการไม่เปิดตลาดโดยมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของพลเมืองทั้งสองประเทศ

เนื้อหาให้จดหมายภาษาอังกฤษจะเป็นดังนี้ :

เรียน   ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์
          ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)
          สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC)
ผ่าน    ท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

          เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย ได้ติดตามความพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา และความพยายามช่วยเหลือการค้าเนื้อสุกรของเกษตรกรสหรัฐ โดยการเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) มาเป็นระยะหลายปี

          ข้าพเจ้าขอแนะนำให้รู้จักกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยที่มีผลผลิตสุกรท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศประมาณกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี และไม่ปรากฏว่าขาดแคลนผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่ประการใดในทุกๆ ปี หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไทยและภาครัฐร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรเพื่อการเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงชีพของพลเมืองไทย โดยดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การจัดการสุขภาพสัตว์ เพื่อเกษตรกรของประเทศและอาหารปลอดภัยของประชากรไทย

          อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเป็นเสาหลักของการบูรณาการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์โดยเป็นห่วงโซ่อุปทานของทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสุกรและเนื้อสุกรของสหรัฐและการส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรมพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ และเป็นการสร้างผลบวกต่อดุลการค้าของประเทศ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงสุกรของไทยก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของโลก

          บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับและสนับสนุนด้วยดีจากคนไทยซึ่งกว่าร้อยละ 25 เป็นประชากรจากภาคเกษตรกรรมที่รวมไปถึงประชากรที่อยู่ในภาคปศุสัตว์ เช่น อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ฯลฯ

          ถ้ารัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากสหรัฐ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐและผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นภัยพิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรพืชอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทย จากการเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน กับ สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก

          การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกแต่ไม่ใช่กระทำการในลักษณะทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เพราะว่าการเกษตรเป็นการเลี้ยงชีพพื้นฐานของมนุษยชาติ ฝากให้ท่านพิจารณาด้วยว่ามนุษยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจระหว่างประเทศ

          ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอแนะนำสหรัฐว่าควรหยุดเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรส่งออกมายังประเทศไทยที่มีผลผลิตมากอย่างท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่มีการคัดค้านต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรไทย ผู้เลี้ยงสุกรไทยใคร่ขอให้ตระหนักบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างพลเมืองสหรัฐอเมริกากับพลเมืองของไทย

 

ข้อมูลจาก : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย