จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่ารัฐบาลนำเนื้อหมูติดเชื้ออหิวาห์แอฟริกามาขายให้ประชาชนในราคาถูก ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข่าวที่แชร์กันในโซเชียลน่าจะสืบเนื่องจากมีการอภิปรายไม่ใว้วางใจรัฐบาล โดย สส. ฝ่ายค้านอภิปรายว่า รัฐบาลเอาหมูเป็นโรคตาย มาขายให้ประชาชน โดยนำสุกรปนเปื้อนเชื้อ ASF จำหน่ายที่ตลาด อตก. เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 ตามโครงการเกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ จำหน่ายราคา 140 บาท/ก.ก. ซึ่งเป็นเนื้อสุกรโครงการปศุสัตว์ OK” มีข้อเท็จจริง ดังนี้
 
 
1. บริษัทที่นำเนื้อสุกรเข้าร่วมโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น เป็นโรงงานมาตรฐานที่ได้รับการรับรองเป็นโรงงานเพื่อการส่งออกและได้เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK กับกรมปศุสัตว์
2. กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไปกำกับดูแลการผลิตเนื้อสุกร และผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมป้องกันโรค โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) อย่างเคร่งครัด
3. ผู้ประกอบการสามารถนำเนื้อสุกรไปจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 140 บาท เนื่องจากเป็นเนื้อสุกรที่ผลิตและเก็บไว้ในคลังสินค้า (stock) ที่มีการผลิตก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีราคาต้นทุนสุกรมีชีวิตต่ำกว่าท้องตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จึงสามารถจำหน่ายเนื้อสุกรได้ในราคาถูก
 
4. กรมปศุสัตว์มีระบบการรายงานโรคระบาด ASF ในสุกรและการป้องกันโรค ASF ตลอดวงจรการผลิตตั้งแต่ฟาร์ม – โรงงาน รวมทั้งมีการตรวจสุขภาพสุกร การสุ่มเก็บตัวอย่างก่อนการเคลื่อนย้ายสุกรเข้าโรงฆ่า ดังนั้น จึงสามารถคัดกรองเฉพาะสุกรสุขภาพดีเท่านั้นเข้าฆ่าเพื่อจำหน่าย และหากพบสุกรเป็นโรค ASF เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถรายงานผู้บังคับบัญชารับทราบได้ทันที กรณีเนื้อสุกรที่ผลิตในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเกษตรช่วยประชาชนลดค่าของชีพที่ตลาด อตก. เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเนื้อสุกรจาก Stock และผ่านการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ ASF ตามหลักวิชาการและไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ ASF
5. กรมปศุสัตว์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังโรค ASF ในโรงฆ่าสุกรเพื่อการส่งออก โดยบริษัทได้เก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ ASF ได้แก่ ตัวอย่างเลือดสุกร ก่อนเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงฆ่า การเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมด้วยการ swab พื้นที่ (อาคารโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์) และสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสุกร รวม 2,535 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างตรวจไม่พบเชื้อ ASF
 
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dld.go.th หรือโทร. 02 6534444
 
ข้อมูล : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย